Dear modules ,

เอาหมายเลขโทรศัพท์ปัญญาอ่อนคืนมา
คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์ กทม 10200
โทรศัพท์ (02) 613-2327
โทรสาร (02) 226-2440

วันที่ 11 ธันวาคม 2545
เรียน ท่านผู้เป็นหุ้นส่วนเจ้าของประเทศไทย

โปรดอ่านบทความที่กำลังจะตีพิมพ์ในมติชนรายวัน ซึ่งแนบมากับจดหมายนี้ 
หากท่านเห็นด้วยกรุณาช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง 
ด้วยการทำสำเนาส่งต่อให้บุคคลที่ท่านรู้จัก 10 ท่าน หรือส่งต่อทาง Internet 
ถึงบุคคลที่ท่านรู้จัก นี่ไม่ใช่จดหมายลูกโซ่ที่งมงายไร้สาระ 
แต่เป็นเสียงวิงวอนขอแรงเล็กๆน้อยๆจากท่านเพื่อช่วยกันแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้องกลับคืนมาโดยเร็ว
 และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันจรรโลงสังคมไทยให้น่าอยู่ 
หากท่านอ่านแล้วไม่เห็นด้วยก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆตามที่ร้องขอ

กราบขออภัยที่ทำให้ท่านต้องเสียเวลา และขอได้รับความขอบพระคุณอย่างยิ่งจากพวกเรา

ขอแสดงความนับถือ

(ดร. เมธาวุฒิ พีรพรวิทูร)

กลุ่มปฏิรูปการบริการภาครัฐและสังคม
“หิ่งห้อย”
เอาหมายเลขโทรศัพท์ปัญญาอ่อนคืนมา


เมธาวุฒิ พีรพรวิทูร
คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์


การออกแบบการให้บริการใดๆในสหรัฐอเมริกาอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า 
ผู้รับบริการทุกคนในโลกนี้ปัญญาอ่อน 
ทึบถึงขนาดไม่สามารถจะเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆให้ถูกต้องได้หากมีความยากแม้แต่เพียงเล็กน้อย
 ด้วยเหตุนี้การบริการทุกประเภทจึงต้องมีกระบวนการ ขั้นตอนการปฏิบัติ 
คำอธิบายและข้อแนะนำที่ง่ายที่สุดเท่าที่จะง่ายได้ 
แม้แต่คนปัญญาอ่อนก็สามารถจะเข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง 
ตลาดหนังสือประเภทตำราเรียนด้วยตนเองในอเมริกาจึงเต็มไปด้วยฉบับ “ปัญญาอ่อน” 
เพื่อจะสื่อให้ผู้ซื้อรู้ว่าสามารถเรียนรู้ได้ง่ายๆด้วยตนเอง 
แต่หน่วยงานของรัฐในประเทศไทยกลับคิดตรงกันข้าม 
เชื่อว่าผู้รับบริการฉลาดหลักแหลมและเปี่ยมด้วยไหวพริบปฏิภาณ 
มีระดับความอัจฉริยะเฉียดๆไอน์สไตน์ จะมากน้อยกว่ากันก็คงไม่ถึงครึ่งขีด 
การบริการของรัฐจึงต้องทำให้ปฏิบัติยากๆและลำบากๆเข้าไว้ 
เพื่อเป็นการลับสมองลองปัญญาให้คมกริบอยู่เสมอ ก็อย่างเช่นการเขียนหมายเลขโทรศัพท์ 
“อัจฉริยะ” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ยังไงครับ

ผมแปลกใจมากที่พบว่าหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง หน่วยงานเอกชน 
ห้างร้านและประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เขียนหมายโทรศัพท์ของตนเป็น 0-28688889 
(หมายเลขสมมติขึ้น) หรือ 0-2868-8889 แทนที่จะเป็น (02) 868-8889 
ทำไมคนไทยส่วนใหญ่จึงทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก 
สมองคนไทยมีความจุมากกว่าของคนชาติอื่นหรืออย่างไร จึงต้องเขียนให้มันใช้ยากๆไว้ก่อน 
ที่แปลกใจมากกว่านั้นคือ ทำไมการเขียนแบบ “ง่ายๆฉันไม่-ยากๆฉันทำ” 
จึงเกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันเกือบทั้งประเทศผิดวิสัยคนไทยอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง 
อะไรทำให้คนไทยฉลาด (น้อย) กันทั้งประเทศได้ถึงขนาดนี้ ใครเสี้ยมใครสอนให้เขียนแบบนี้หนอ 
ทำไมจึงว่านอนสอนง่ายจัง ทนใช้อยู่ได้ทั้งๆที่รู้ว่าสร้างความลำบากแก่ตนเองและผู้อื่น

มีคนบอกผมว่าเป็นเพราะ ทศท ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นบริษัทมหาชนจำกัด 
ทำหนังสือถึงหน่วยงานของรัฐและเอกชนทุกแห่งให้เขียนหมายเลขโทรศัพท์ “อัจฉริยะ” 
อย่างที่เห็นกันอยู่ 
บ้างว่าสำนักนายกรัฐมนตรีต่างหากที่มีหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆโดยมีหนังสือของ ทศท แนบท้าย 
เอาเป็นว่า ทศท นั่นแหละตัวดี สำนักนายกก็คงเพียงแต่ทำตามความประสงค์ของ ทศท เท่านั้น 
ผมสนใจใคร่รู้เหลือเกินว่า ทศท ใช้ตรรกและเหตุผลใดในการกำหนดให้เขียนเช่นนี้ 
เมื่อตอนเปลี่ยนจากหมายเลข 7 หลักเป็นระบบ 7 หลักที่มี 02 นำหน้า ทศท 
ประชาสัมพันธ์ว่าการโทรในเขต กทม ให้กด 02 ก่อนหมายเลขโทรศัพท์ 7 หลัก 
คนทั่วไปจึงรับรู้ว่า 02 เป็นรหัสพื้นที่ในเขต กทม เมื่อเป็นเช่นนี้หมายเลขโทรศัพท์ใน กทม 
จึงต้องเขียนโดยแยก 02 ออกจากเลข 7 หลัก เพื่อให้สายตาแยกความแตกต่างได้อย่างชัดเจน 
โดยมีขีดกั้นกลางระหว่าง 3 หลักแรกกับ 4 หลักหลังเพื่อให้สมองจำได้ง่าย เช่น (02) 
868-8889 แต่ ทศท กลับกำหนดให้เขียนเป็น 0-28688889 
กลายเป็นว่ารหัสพื้นที่ของกทมเปลี่ยนจาก 02 เป็น 0 และระบบ 7 หลักเปลี่ยนเป็น 8 หลัก ถ้า 
ทศท ประสงค์เช่นนี้ก็น่าจะประชาสัมพันธ์แต่แรกให้รหัสพื้นที่ กทม เป็น 0 
และใช้ระบบหมายเลข 8 ตัว จะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

วิธีเขียนหมายเลขของ ทศท ขัดกับหลักจิตวิทยาการจำของมนุษย์ 
มนุษย์ที่ไม่ปัญญาอ่อนจะสามารถจำเลข 7 หลักได้ และจะจำได้ง่ายขึ้นถ้าแยกจำเป็น 2 ชุด 
ชุดแรก 3 ชุดหลัง 4 เพื่อช่วยให้มนุษย์จำได้ง่ายจึงควรเขียนเป็น 868-8889 
มนุษย์จะเริ่มมีปัญหาเมื่อต้องจำเลข 8 หลัก แม้จะเขียนแยกเป็น 2 ชุดก็ตาม 
ด้วยเหตุนี้หมายเลขโทรศัพท์จึงไม่ควรเกิน 7 ตัว (ไม่นับรหัสพื้นที่ซึ่งอาจเป็น 2 หรือ 3 
ตัว) ถ้าเกิน 7 และเขียนต่อเนื่องกันไปโดยไม่เว้นระยะ 
คนปัญญาเลิศก็จะกลายเป็นคนปัญญาอ่อนไปทันทีเพราะจำตัวเลขเยอะๆที่เขียนพรวดเดียว 8 
ตัวไม่ไหว แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชากรประมาณ 250 ล้านคนก็ยังใช้ระบบ 7 
หลักโดยใช้รหัสพื้นที่ 3 ตัวเลข เพื่อหลีกเลี่ยงการมีหมายเลขมากกว่า 7 ตัว

วิธีการเขียนตามแบบของ ทศท 
ยังขัดกับหลักสากลทั่วโลกที่กำหนดให้เขียนรหัสพื้นที่ไว้ในวงเล็บ 
เพื่อให้เห็นความแตกต่างจากหมายเลข 7 ตัวได้โดยง่ายและถนัดชัดเจน เช่น 
หมายเลขโทรศัพท์ของผมในสมัยเรียนอยู่ที่อเมริกา คือ (814) 861-1222 
การเขียนเช่นนี้ทำให้เห็นง่าย จดง่าย จำง่าย โทรง่าย เป็นสากล 
และสามารถรู้ได้ว่าเจ้าของหมายเลขอาศัยอยู่แห่งหนตำบลใด 
ผมไม่ได้พบเพื่อนเก่าคนหนึ่งนานเกือบ 20 ปี เพราะเขาไปเรียนต่อที่อเมริกา 
จบแล้วก็ทำงานและมีครอบครัวอยู่ที่นั่น 
วันหนึ่งเขากลับมาเมืองไทยและได้หมายเลขโทรศัพท์ของผม เขารู้ทันทีว่าผมเรียนอยู่ที่ Penn 
State เพราะรหัสพื้นที่ 814 นั่นเอง 
ผู้ใช้โทรศัพท์ในสหรัฐอเมริกาจะพบกับความยุ่งยากขั้นหายนะอย่างแน่นอน 
หากเขียนแบบอัจฉริยะเป็น 8-148611222 แม้เขียนเป็น 8-148-611-222 
ก็ยังสร้างความพินาศแก่ผู้ใช้อยู่ดี

หมายเลขโทรศัพท์ตามแบบของ ทศท สร้างปัญหามากเหลือเกินครับ ดูก็ยาก จดก็ยาก 
จำก็ยากและโทรก็ยาก 
เวลาที่อยู่ในรถที่กำลังวิ่งผ่านหน้าอาคารสถานที่ที่มีการติดประกาศหรือโฆษณาที่น่าสนใจ 
ผมไม่สามารถจดหมายเลขโทรศัพท์ได้เลยครับ 
ในกรณีหมายเลขโทรศัพท์ที่แสดงเป็นตัววิ่งในทีวีหรือที่ขึ้นใต้จอให้เห็นเพียงครู่เดียวก็เช่นกัน
 บ้างครั้งผมต้องจดอยู่ถึง 3 เที่ยวจึงสำเร็จ และโอกาสจดหมายเลขผิดพลาดก็สูง 
เวลาโทรก็เหมือนกันครับ แม้จะมีหมายเลขที่ถูกต้องอยู่ในมือก็ยังโทรผิดหรือต้องโทรมากกว่า 
1 ครั้ง เพราะต้องใช้สายตาแยกตัว 2 ของรหัสพื้นที่ออกไปจากตัวแรกของหมายเลข 7 ตัว 
ในขณะที่ต้องละสายตามามองที่หน้าแป้นโทรศัพท์เพื่อจะได้กดหมายเลขที่ถูกต้องได้ 
จากนั้นละสายตาจากหน้าแป้นเพื่อเหลือบดูหมายเลขในมืออีกครั้งหนึ่ง 
ต้องใช้สายตาแยกเลขที่ยังไม่ได้จำและไม่ได้กด ออกจากเลขที่จำไปแล้วและกดไปแล้ว 
ผลก็คือผู้ใช้โทรผิดหรือเสียเวลาในการโทร 
ซึ่งเป็นผลเสียต่อผู้ใช้แต่กลับเป็นรายได้ที่มิควรได้ของ ทศท

วิธีการเขียนของ ทศท จะใช้ได้ถ้าคนไทยเป็นมนุษย์สายพันธุ์พิเศษ 
มีความจุสมองมากกว่าคนชาติอื่นเพื่อจะได้จำเลข 8 หลักได้สบายๆ 
และสามารถแยกการทำงานของสายตาทั้ง 2 ข้างได้ 
ตาซ้ายมองหมายเลขในมือในขณะที่ตาขวามองแป้นโทรศัพท์ 
อย่างไรก็ตามมีผู้พบมนุษ์สายพันธุ์ธรรมดาคนหนึ่งซึ่งไม่มีปัญหาในการใช้หมายเลขอัจฉริยะเลย 
ท่านเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงมากของทศท ผู้จัดการบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่า 
วันหนึ่งได้ยินท่านพูดออกอากาศทำนองว่า หมายเลขโทรศัพท์ใหม่นี้ใช้ง่ายมาก 
ท่านผู้ฟังไม่ต้องจำอะไรเลย ก่อนที่จะโทรขอให้ท่านนึกไว้ในใจก่อนว่า หมายเลขที่จะโทรมี 2 
นำหน้า แต่ก่อนที่จะกด 2 อย่าลืมกด 0 เสียก่อน 
ผมเอาไปเล่าที่ไหนคนหัวเราะกันงอหายยิ่งกว่าตลกคาเฟ่เสียอีก 
วิธีที่ง่ายที่สุดซึ่งชาวบ้านก็ใช้กันอยู่แล้วคือ ยกหูโทรศัพท์ขึ้น กด 02 
โดยไม่ต้องจำเพราะ 02 อยู่ในสมองแล้ว จากนั้นตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์ 7 หลัก 
ง่ายกว่าไหมครับท่าน?

ตอนแรกผมคิดว่าปัญหาการใช้หมายเลขอัจฉริยะเป็นปัญหาเฉพาะตัวของผมเอง 
เพราะไม่เห็นมีใครว่าอะไร เลยพาลไปโทษพระเจ้าที่ประทานความจุของสมองให้ผมน้อยกว่าคนอื่น 
ผมเริ่มรู้ว่าผมไม่ทึบอย่างที่คิด เมื่อได้อ่านบทความในหนังสือพิมพ์ของอาจารย์ที่ผมเคารพ 
คือ รศ. ธงชัย สันติวงศ์ ปรมาจารย์วิชาการจัดการ 
ซึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมากกับวิธีการเขียนเลขหมายโทรศัพท์ดังกล่าว 
เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า ผมกับอาจารย์ธงชัยไม่ใช่พวกสมองด้อยอย่างแน่นอน 
จะได้สอนหนังสือต่อไปได้อย่างปรกติสุข 
ทุกครั้งที่บรรยายพิเศษนอกสถานที่ผมถือโอกาสสำรวจปฏิกิริยาของผู้ฟังต่อวิธีการเขียนหมายเลขของ
 ทศท คำถามของผมเหมือนเอาไม้ไปแหย่รังแตน ทุกกลุ่มอาชีพและทุกระดับชั้นสวดทศท กันอึงมี่ 
ที่น่าแปลกใจคือ กลุ่มที่มีปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยรุนแรงที่สุด คือ 
พนักงานขององค์การแห่งหนึ่งซึ่งเป็นทั้งผู้รับสัมปทานและคู่แข่งของ ทศท 
ผมยังไม่เคยพบคนที่เห็นดีเห็นงามกับวิธีการเขียนหมายเลขของ ทศท แม้แต่หนึ่งราย!

ด้วยความตระหนักในความเสียหายของผู้ใช้บริการผมจึงเป็นตัวแทนของพลเมืองอาสากลุ่มหนึ่ง 
นำเรื่องร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 
ตุลาคม 2545 เพื่อขอให้ ทศท 
ชี้แจงเหตุผลและเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนหมายเลขโทรศัพท์เสียใหม่ 
พร้อมทั้งขอให้ตอบคำถามและปรับปรุงการบริการอีก 4 ประการ 
ผมได้เข้าไปฟังการชี้แจงของท่านรองผู้ว่าการของ ทศท และคณะ 
ต่อคณะอนุกรรมการดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา 
ผมฟังเหตุผลทางเทคนิคไม่รู้เรื่องครับ แต่จับใจความสำคัญได้ว่า ทศท 
มีความจำเป็นต้องปรับปรุงระบบเนื่องจากชุมสายบางแห่งเต็ม 
แต่การพัฒนาระบบใหม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทศท 
จึงเลี่ยงไปใช้อีกวิธีหนึ่งซึ่งท่านรองไม่ได้อธิบายว่าเป็นอย่างไร 
วิธีนี้ไม่ต้องพัฒนาระบบใหม่ซึ่งทำให้สามารถประหยัดเงินได้ประมาณ 500 ล้านบาท

ทศท จึงได้กำหนดวิธีการเขียนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่โดยแยก 2 ออกจาก 0 เอาไปรวมกับเลขหมาย 7 
หลัก กลายเป็น 8 ดังกล่าว ซึ่งตัวแทน ทศท 
บอกว่าเป็นการเขียนที่ถูกต้องตามหลักเหตุผลทางเทคนิคที่ใช้อยู่ในขณะนี้ รหัสพื้นที่ กทม 
ที่ถูกต้องจึงเป็น 0 ไม่ใช่ 02 อย่างที่ประชาชนเข้าใจกันทั้งประเทศ ยุ่งแล้วซิครับทีนี้ 
แค่รหัสพื้นที่ กทม ประชาชนทั้งประเทศเข้าใจอย่างหนึ่ง ทศท เข้าใจอีกอย่างหนึ่ง 
อย่างไรก็ตามตัวแทนของ ทศท แจ้งว่าหากประชาชนไม่ชอบใจ 
หรือไม่ได้รับความสะดวกใดๆจากวิธีเขียนหมายเลขดังกล่าว 
จะเขียนอย่างที่เคยใช้ตามความถนัดก็ได้ พูดง่ายๆก็คือ ไม่ว่าท่านจะเขียน (02) 286-8889, 
02-286-8889, 0-2868-8889, 0-28688889 หรือ 028688889 
หากท่านกดหมายเลขทุกตัวได้ถูกต้องจะมีผลเท่ากันทุกประการ 
และไม่ได้ทำให้ระบบโทรศัพท์เกิดปัญหาแต่อย่างใด

“โธ่โว้ย!” ผมตะโกน (ในใจ) สุดเสียง ก็ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ทศท 
มากำหนดให้ผู้อื่นเปลี่ยนจากวิธีที่เข้าใจและใช้ง่ายที่สุด 
มาเป็นวิธีที่เข้าใจและใช้ยากเกือบที่สุดเพื่ออะไร 
เพียงเพื่อให้ถูกต้องตามเทคนิคทางวิศวกรรมเท่านั้นหรือ ทศท 
ควรจะสงวนความเข้าใจทางเทคนิคไว้เป็นสมบัติหรืออภิสิทธิส่วนตัวก็พอ 
ไม่ควรที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ประชาชนต้องเข้าใจอย่างที่วิศวกรของ ทศท เข้าใจ 
เพราะมันไม่มีความจำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ รังแต่จะเกิดโทษต่อผู้ใช้ 
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า 
หน่วยงานของรัฐมักจะใช้วิธีคิดของตัวเองเป็นที่ตั้งแล้วสื่อสารโดยไม่คำนึงถึงการรับรู้และความเข้าใจของชาวบ้าน
 เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า “โอกาสที่จะมีฝนตก 60%” นั้น ประชาชนเข้าใจว่า 
“ฝนน่าจะตกมากกว่าไม่ตก” แต่สาระที่กรมอุตุต้องการจะสื่อกลับเป็น “ฝนตกแหงๆ 100% แต่ตกแค่ 
60% ของพื้นที่” กรมอุตุทนให้ชาวบ้านเข้าใจผิดและถูกด่าอยู่หลายปีกว่าจะแก้ไข 
ก็เพราะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เอาใจตัวเองเป็นที่ตั้ง จึงไม่ใส่ใจใยดีความเข้าใจของผู้อื่น
แม้ผมจะไปเพียงลำพังแต่ก็ไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวครับ 
คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ใช่คณะของ ทศท 
ไม่มีใครเห็นด้วยกับวิธีการเขียนหมายเลขหมายของ ทศท ในที่สุดที่ประชุมจึงขอให้ ทศท 
เปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ผมเสนอว่าควรเป็น (02) 
แต่ท่านรองไม่อยากให้เป็นวงเล็บ ผมก็ไม่เข้าใจเหตุผล 
ทั้งๆที่หมายเลขโทรศัพท์ในนามบัตรของท่านเองก็ขึ้นต้นด้วย (0) 
ในที่สุดที่ประชุมบอกว่าเป็น 02- ก็แล้วกัน ซึ่งผมก็หยวนๆ ครับ 
เพราะถึงอย่างไรก็ใช้ง่ายขึ้นอีกเยอะครับ แต่เรื่องที่ผมหยวนไม่ได้และยืนยันว่า ทศท 
ต้องดำเนินการก็คือ ทศท ต้องทำหนังสือถึงทุกหน่วยงานเหมือนที่เคยทำก่อนหน้านี้ 
เพื่อให้เปลี่ยนวิธีการเขียนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ตามที่ตกลงกับคณะอนุกรรมการ 
ที่ผมยืนยันเช่นนี้มิใช่ว่าต้องการฉีกหน้า หรือให้ ทศท ต้องกลืนน้ำลายตนเอง 
แต่เนื่องจากทศทเดี๋ยวนี้เป็นบริษัทมหาชนที่รัฐเป็นเจ้าของและได้ประกาศใช้หลักธรรมาภิบาล 
(Good governance) ในการบริหาร หลักการหนึ่งของธรรมาภิบาลก็คือ 
ความรับผิดชอบที่พร้อมจะรับผิด (Accountability) ซึ่งมีความหมายรวมถึงว่า 
พร้อมที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขการดำเนินการใดๆ 
ที่ผิดพลาดหรือส่งผลเสียหายต่อสาธารณะหรือผู้หนึ่งผู้ใด หลักธรรมาภิบาลจึงมิใช่ 
“น้ำยาดับกลิ่น” และมิได้มีไว้เพื่อตีเกราะเคาะระฆังให้ดูเอิกเกริก 
แต่ต้องปฏิบัติให้เห็นจริง ทศท จึงต้องดำเนินการในเรื่องนี้โดยไม่ชักช้า

ผมไม่แน่ใจว่าวิธีการไม่พัฒนาระบบใหม่แล้วประหยัดเงินได้ 500 
ล้านนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกต้องหรือไม่ 
เพราะไม่รู้ว่าวิธีนี้เป็นเพียงการประวิงเวลาในการพัฒนาระบบใหม่ออกไปหรือเปล่า 
ถ้าใช่สมมติว่าอีก 10 ปี เราต้องพัฒนาระบบใหม่ ก็ใช้ระบบใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ไม่ดีกว่าหรือ 
เพราะเมื่อถึงตอนนั้นราคาของระบบใหม่ต้องมากกว่า 500 ล้านบาทอย่างแน่นอน อีกประการหนึ่ง 
ไม่รู้ว่าการประหยัด500 ล้านของ ทศท นั้น 
เป็นการผลักภาระให้ผู้อื่นแบกโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ ทศท ประหยัดได้ 500 ล้านบาท 
แต่ประชาชนโทรผิดหนึ่งครั้ง เสีย 3 บาท สมมติว่า ประชาชนโทรผิดคนละครั้งต่อวัน 
ในหนึ่งวันประชาชนต้องจ่าย 180 ล้านบาท ใน 1 ปีจ่าย 65,700 ล้านบาท และ 10 ปี จ่าย 
657,000 ล้านบาท ซึ่งกลายเป็นรายได้ของ ทศท 
นี่ยังไม่นับการเสียเวลาโดยรวมของประชาชนที่เกิดจากการโทรใหม่นะครับ 
หากคิดเป็นเงินก็คงมหาศาล

การประหยัด 500 
ล้านบาทเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเพี้ยนของระบบหมายเลขโทรศัพท์ในเวลานี้หรือไม่ 
เป็นการแก้ปัญหาแบบ “สายตาสั้น” หรือเปล่า รหัสของ กทม เป็น 0 
ได้อย่างไรในเมื่อประเทศไทยมี 70 กว่าจังหวัด อย่างน้อยควรเป็นเลข 2 หลักไม่ใช่หรือ 
แล้วทำไมต่างจังหวัดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยจึงมีรหัสเป็นเลข 3 หลัก 
โดยมีระบบหมายเลขเหลือแค่ 6 ตัว แถมเขียนรหัสไว้ในวงเล็บเสียด้วย ทำไม 0 ของ กทม 
อยู่ในวงเล็บไม่ได้ แต่รหัส 3 ตัวของต่างจังหวัดอยู่ในวงเล็บได้ ตกลง 0 
ไม่ใช่รหัสพื้นที่แต่รหัส 3 ตัวของต่างจังหวัดเป็นรหัสพื้นที่อย่างงั้นหรือ 
ความประหลาดอีกประการหนึ่งคือ ทำไมหมายเลขของโทรมือถือจึงเขียนเป็น 01-2868889 
หรือ01-286-8889 ทำไมไม่เขียนเป็น 0-12868889 หรือ 0-1286-8889 ทศท 
ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการกำหนด ความมั่วเหล่านี้เป็นผลจากการประหยัดหรือเปล่า ถ้าใช่ 
ใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายเหล่านี้ 
สภาผู้แทนหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญน่าจะเข้ามาตรวจสอบการตัดสินใจของ ทศท 
ในการเลือกที่จะประหยัด 500 ล้านแทนการพัฒนาระบบใหม่ ว่ามีความถูกต้องและเหมาะสมอย่างไร 
โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ 
ความสะดวกในการใช้และความมีมาตรฐานของระบบโทรศัพท์ทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ โปรดสำรวจหมายเลขโทรศัพท์ของท่าน ทั้งของส่วนตัวและที่ทำงาน 
หากพบว่าเป็นหมายเลขอัจฉริยะตามวิธีการเขียนที่ ทศท กำหนด ไม่ว่าจะเป็น 0-22868889 หรือ 
0-2286-8889 ขอความกรุณาให้เปลี่ยนเป็นหมายเลขปัญญาอ่อน 
เพื่อรักษาผลประโยชน์และความสะดวกของท่านและผู้ที่ประสงค์จะติดต่อกับท่าน โปรดอย่าลืมว่า 
ท่านและผู้ที่ประสงค์จะติดต่อกับท่านอาจเสียเงินและเวลาจำนวนมากจากการโทรผิดๆถูกๆอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
 ท่านอาจเสียลูกค้าที่ควรได้เพราะจดเลขหมายของท่านผิด 
ท่านอาจกลายเป็นคนเฉิ่มๆเชยๆเมื่อใครต่อใครเห็นหมายเลขโทรศัพท์ของท่าน 
และคนไทยอาจถูกคนชาติอื่นดูแคลนหากหมายเลขอัจฉริยะปรากฏสู่สายตา 
ท่านจะเขียนแบบไหนก็ได้ครับ (02) 286-8889 หรือ 02-286-8889 
แต่ผมจะใช้แบบแรกเพราะให้ความแตกต่างระหว่างรหัสพื้นที่และหมายเลขได้ชัดเจนกว่า 
และเป็นหลักสากลที่ใช้กันทั่วโลก

ขอความกรุณาจากท่านช่วยกันสร้างสรรค์สังคมไทยด้วยการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด 
โปรดกระซิบปากต่อปาก เขียน โทร ส่ง E-mail (ลูกโซ่ยิ่งดี) และวิธีการอื่นใด 
เพื่อเผยแพร่วิธีการเขียนหมายเลขโทรศัพท์เสียใหม่ให้ความถูกต้องกลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว 
ทุกครั้งที่ท่านได้รับนามบัตรจากผู้อื่นโปรดตรวจดูหมายเลขโทรศัพท์ก่อนเก็บใส่กระเป๋า 
หากพบว่าเป็นแบบอัจฉริยะ กรุณาแนะนำให้เปลี่ยนเป็นแบบปัญญาอ่อนในโอกาสต่อไป 
ไม่มีใครช่วยผู้บริโภคได้ดีเท่าผู้บริโภค (ร่วมกัน) ช่วยตนเอง 
หากท่านประสงค์จะได้ต้นฉบับของบทความนี้เพื่อการเผยแพร่ กรุณาติดต่อผมได้โดยทันที

แบบนี้ ถ้าเบอร์โทรบางส่วนของกรุงเทพ กลายเป็น

031234567

จะทำไงล่ะ

(03) 1234567

(0) 3123 4567

เออ ก็โอเค ยังจำง่ายอยู่ดี ถ้าใส่วงเล็บ 03 ไว้ข้างหน้าแทน

$ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $

แนะนำธุรกิจ International e-Business !
เรียนรู้วิธีการทำงาน ธุรกิจนานาชาติ บน Internet
เรียนรู้แผนการทำงานเพิ่มรายได้พิเศษในแต่ละเดือน

แผนทำรายได้อย่างจริงจังแบบทำงานนอกเวลา
17,000 ถึง 100,000 บาท/เดือน
เวลาที่ต้องใช้ : 7-14 ชม./สัปดาห์

แผนทำรายได้อย่างจริงจังแบบทำงานเต็มเวลา
50,000 ถึง 170,000 บาท/เดือน
เวลาที่ต้องใช้ : 20-40 ชม./สัปดาห์

แผนทำรายได้เร่งกำลังเต็มที่แบบทำงานเต็มเวลา
คุณสามารถทำรายได้ 100,000 บาทในเดือนแรก
คุณสามารถทำรายได้ 350,000 บาท/เดือน ภายใน 6 เดือนแรก
ดูรายละเอียดได้ที่ www.geocities.com/thaigetrich9/tgr076

$ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $ $

"ขออภัย หากข้อความนี้ถูกส่งไปยังคุณโดยบังเอิญ
หากคุณต้องการให้รายชื่อถูกลบออกกรุณาส่ง email ของคุณมาที่
[EMAIL PROTECTED] <mailto:[EMAIL PROTECTED]>  โดยเขียนหัวข้อว่า    
Unsubscribe"


Reply via email to